Moltke, Helmuth Karl Bernhard von, Graf von Moltke

จอมพล เฮลมุท คาร์ล เเบรนฮาร์ด ฟอน มอลท์เคอ, กราฟ ฟอน มอลท์เคอ (๒๓๔๓-๒๔๓๔)

​     จอมพล เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน มอลท์เคอ หรือ กราฟ (เคานต์) ฟอน มอลท์เคอ เป็นผู้นำทางทหารและนักวางแผนยุทธศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มอลท์เคอเป็นเสนาธิการทหารของกองทัพราชอาณาจักรปรัสเซีย

(Kingdom of Prussia) และจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๘-๑๘๘๘ เขามีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปกองทัพและการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การสงครามของปรัสเซีย ซึ่งทำให้กองทัพปรัสเซียมีความเข้มแข็งและทันสมัยจนมีชัยชนะในสงครามเดนมาร์ก (Danish War ค.ศ. ๑๘๖๔) สงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War ค.ศ. ๑๘๖๖)* กับออสเตรีย และสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* ซึ่งส่งผลให้การรวมชาติเยอรมนี (Unification of Germany)* ประสบความสำเร็จ การปฏิรูปกองทัพเยอรมันตามแนวคิดของมอลท์เคอเป็นที่ยอมรับของนักยุทธศาสตร์การทหารของเยอรมนีอย่างกว้างขวางจนทำให้แนวคิดและแผนยุทธศาสตร์ของเขากลายเป็นแบบอย่างของแผนยุทธศาสตร์ที่กองทัพเยอรมันรับมาใช้จนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โดยเฉพาะแนวคิดในเรื่องการเตรียมการให้เยอรมนีสามารถรับศึกได้ทั้ง ๒ ด้าน คือทั้งแนวรบด้านตะวันตก และแนวรบด้านตะวันออกพร้อม ๆ กัน ความสำเร็จในฐานะนักยุทธศาสตร์การทหารของมอลท์เคอในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียทำให้เขาได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นกราฟหรือเคานต์ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ และได้รับแต่งตั้งเป็นจอมพลใน ค.ศ. ๑๘๗๑ นอกจากนี้มอลท์เคอยังเป็นนักเขียนและนักแปลที่มีชื่อเสียง ผลงานหลายเรื่องของเขาได้รับการตีพิมพ์และถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาอื่น
     มอลท์เคอเกิดเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๐ ที่เมืองพาร์คิม (Parchim) ในแคว้นเมคเคลนบูร์ก (Mecklenburg) ทางภาคตะวันออกของเยอรมนีในปัจจุบัน ในครอบครัวที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดา บิดาสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางแห่งเมคเคลนบูร์ก และมารดาก็มาจากตระกูลเก่าแก่แห่งนครอิสระลือเบค (Lübeck) ครอบครัวมีฐานะไม่สู้ดีนัก มอลท์เคอมีสุขภาพอ่อนแอตั้งแต่เล็ก ใน ค.ศ. ๑๘๐๕ ขณะอายุ ๕ ปีบิดาได้อพยพครอบครัวไปตั้งรกรากใหม่ที่ แคว้นโฮลชไตน์ (Holstein) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์ก ต่อมา เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก (The Royal Military Academy of Denmark) ที่กรุงโคเปนเฮเกนหลังจากนั้นเขาก็เข้ารับราชการทหารในกรมทหารราบของเดนมาร์ก
     ใน ค.ศ. ๑๘๒๑ มอลท์เคอได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนกรุงเบอร์ลิน นครหลวงของปรัสเซีย เมื่อกลับมาเขาก็ตัดสินใจลาออกจากกองทัพบกเดนมาร์กและเข้าสังกัดกองทหารรักษาพระองค์ของปรัสเซียซึ่งประจำอยู่ ณ เมืองฟรังค์ฟูร์ทอันเดอร์โอเดอร์ (Frankfurt an der Oder) ใน ค.ศ. ๑๘๒๒ และได้รับยศเป็นร้อยโทต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๒๓ มอลท์เคอถูกส่งไปศึกษาเพิ่มเติมที่วิทยาลัยการสงคราม(The General War College) ของปรัสเซียซึ่งมีหลักสูตร ๓ ปี แต่เนื่องจากมีปัญหาทางด้านสุขภาพเขาจึงศึกษาได้เพียง ๑ ปีครึ่งเท่านั้น ในช่วงฤดูร้อนของ ค.ศ. ๑๘๒๕ เขาไปพักฟื้นรักษาตัวที่เมืองบาดซัลซ์บรุนน์ (Bad Salzbrunn) และในช่วงเวลาดังกล่าวเขาก็ศึกษาต่างประเทศเพิ่มเติมเมื่อกลับมาประจำการ ณ เมืองแฟรงเฟิร์ตใน ค.ศ. ๑๘๒๖ แล้ว เขาใช้ทักษะและความรู้ในภาษาต่าง ๆ เขียนและแปลหนังสือเป็นอาชีพเสริมงานเขียนชิ้นแรกที่ได้รับการตีพิมพ์คือนวนิยายชื่อ Die beiden Freunde ใน ค.ศ. ๑๘๒๗ ต่อมาในช่วง ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๐ มอลท์เคอได้ผลิตงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์อีกหลายชิ้นทั้งที่เป็นวรรณกรรมเพื่อความบันเทิงและเป็นงานเขียนทางวิชาการเกี่ยวกับการเมืองและการทหาร งานเขียนที่สำคัญของมอลท์เคอในช่วงนี้ได้แก่ ประวัติศาสตร์สังเขปของโปแลนด์ชื่อ Darstellung der innern Verhaltnisse und des gesellschaftlichen Zustandes in Polen ( ค.ศ. ๑๘๓๒) ต่อมาได้มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Poland : An Historical Sketch ( ค.ศ. ๑๘๘๕) นอกจากนี้ยังมีงานแปลเรื่องสำคัญที่ไม่เสร็จสมบูรณ์และไม่ได้รับการตีพิมพ์ เรื่อง The Decline and Fall of the Roman Empire ของเอดเวิร์ด กิบบอน (Edward Gibbon)
     การที่มอลท์เคอเป็นนายทหารอาชีพที่เป็นทั้งนักเขียนและนักแปลด้วยนั้น ในระยะแรก ๆ เขาถูกมองอย่างตำหนิจากผู้บังคับบัญชาบางคนว่าเป็น "การหารายได้อย่างน่าสมเพช" แต่ต่อมาในเวลาไม่นานนักความเป็นผู้รอบรู้และมีความสามารถพิเศษทางด้านวรรณกรรมของเขาก็ได้สร้างความประทับใจให้แก่นายทหารจำนวนไม่น้อยในกองทัพปรัสเซีย แม้ว่ามอลท์เคอจะยังคงมีปัญหาทางด้านสุขภาพอยู่ก็ตาม แต่ในเดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๘ เขาก็ได้รับการโยกย้ายตำแหน่งให้ไปสังกัดสำนักงานภูมิศาสตร์และแผนที่ทหาร (Topographical Bureau) แห่งกรมเสนาธิการทหารปรัสเซีย ณ กรุงเบอร์ลินอีก ๔ ปีต่อมาเขาก็ได้รับตำแหน่งใน คณะเสนาธิการทหารและได้เลื่อนยศขึ้นเป็นร้อยเอกใน ค.ศ. ๑๘๓๓ ขณะอายุ ๓๓ ปี
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๕ มอลท์เคอถูกส่งไปเป็นที่ปรึกษาด้านการทหารของสุลต่านมาห์มุดที่ ๒ (Mahmud II) แห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* เพื่อช่วย ปรับปรุงกองทัพตุรกีให้ทันสมัย และต่อมาเขาก็ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลปรัสเซียให้เข้าร่วมทำงานในกองทัพตุรกีอย่างเต็มตัวจนถึง ค.ศ. ๑๘๓๙ ตลอดระยะเวลา ๔ ปีที่ เขาปฏิบัติภารกิจอยู่ในตุรกีนั้น มอลท์เคอศึกษางานด้านการทหารและสำรวจภูมิประเทศทั้งในกรุงคอนสแตนติโนเปิล [ (Constantinople) หรืออิสตันบูล (Istanbul) ในปัจจุบัน] และในบริเวณคาบสมุทรบอลข่านหลายครั้ง ใน ค.ศ. ๑๘๓๘ มอลท์เคอก็ได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ในสงครามโดยเขาเดินทางไปยังอาร์เมเนีย (Armenia) เพื่อเตรียมกองทัพตุรกีให้พร้อมสำหรับการบุกเข้าโจมตีกองทัพอียิปต์เพื่อยึดดินแดนซีเรีย (Syria) คืน แต่การที่ผู้บัญชาการกองทัพตุรกีไม่สนใจปฏิบัติตามคำแนะนำทางยุทธศาสตร์ของมอลท์เคอ ก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทัพตุรกีเป็นฝ่ายปราชัยต่อกองทัพอียิปต์
     มอลท์เคอกลับเข้าประจำการในกองทัพปรัสเซียในตอนปลาย ค.ศ. ๑๘๓๙ และเขาได้อาศัยประสบการณ์ในตุรกีเขียนหนังสือและจัดพิมพ์งานเขียนอีกหลายเรื่อง งานเขียนที่สำคัญของมอลท์เคอในช่วงนี้ ได้แก่ หนังสือชื่อ Briefe Über Zuatände und Begbenheiter in der Türkei ( ค.ศ. ๑๘๔๑) ซึ่งเป็นการรวบรวมจดหมายจำนวนหนึ่งที่เขาเขียนขึ้นในขณะที่ประจำการอยู่ในตุรกีมาจัดพิมพ์รวมเล่ม อีกเล่มหนึ่งคือความเรียงว่าด้วยข้อควรพิจารณาในการเลือกเส้นทางสำหรับการสร้างทางรถไฟสายใหม่ของปรัสเซีย ( ค.ศ. ๑๘๔๓) เป็นงานเขียนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของมอลท์เคอ ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตในอาชีพราชการทหารของเขาเป็นอย่างมาก และเล่มที่ ๓ คือหนังสือที่กล่าวถึงชาวรัสเซียในบัลแกเรียและรูเมเลียชื่อ Der russisch türkische Feldzug in der europäischen Tükei, 1828-1829 ( ค.ศ. ๑๘๔๕)
     ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๔๒ มอลท์เคอสมรส กับมารี เบิร์ต (Marie Burt) สตรีชาวอังกฤษซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของออกุสตา (Augusta) น้องสาวของเขา แม้จะไม่มีบุตรธิดาด้วยกันแต่ชีวิตสมรสของมอลท์เคอกับภรรยาก็ประสบความสุขและราบรื่นมาโดยตลอด มอลท์เคอมีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น เขาเป็นชายร่างสูงผอมบาง ใบหน้าดูเคร่งขรึมจริงจังอยู่เสมอ มีความเฉลียวฉลาดอันเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนที่ ได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับเขา อย่างไรก็ดี แม้ว่ามอลท์เคอจะรอบรู้ภาษาต่าง ๆ ถึง ๗ ภาษา ได้แก่ ภาษาเยอรมัน เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ตุรกี และสลาฟ และสามารถนำทักษะในการรู้ภาษาต่างประเทศดังกล่าว มาใช้ในการประพันธ์อย่างกว้างขวาง แต่เขากลับเป็นคนที่พูดน้อยและเงียบขรึมจนมีผู้ให้คำจำกัดความว่า "มอลท์เคอนั้นรู้จักคำว่าเงียบในทั้ง ๗ ภาษา" โดยทั่วไปมอลท์เคอเป็นคนสุภาพ ถ่อมตน และมีเมตตากับผู้ร่วมงานทั่วไป กล่าวกันว่าเขาไม่เคยที่จะกล่าววาจาที่ ร้ายกาจต่อผู้ใดแม้แต่ครั้งเดียว ลักษณะนิสัยดังกล่าวของมอลท์เคอทำให้เขามีศัตรูน้อยมากและเป็นที่รักใคร่และยอมรับของบรรดาเพื่อนนายทหารด้วยกันซึ่งมักให้ ฉายาว่าเขาเป็น "คนดีและมีคุณค่า" (Golden Man)
     ในตอนปลาย ค.ศ. ๑๘๔๕ มอลท์เคอได้รับมอบหมายให้เดินทางไปดำรงตำแหน่งเป็นนายทหารราชองครักษ์ (aide-de-camp) ของเจ้าชายเฮนรีแห่งปรัสเซีย (Henry of Prussia) ซึ่งประทับเป็นการส่วนพระองค์อยู่ ณ กรุงโรม มอลท์เคอทำหน้าที่นี้เพียงในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากเจ้าชายเฮนรีผู้ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ได้สิ้นพระชนม์ลงใน ค.ศ. ๑๘๔๖ อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ในอิตาลีก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาผลิตงานเขียนออกมาอีกหลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่แผนที่ทางภูมิศาสตร์ของกรุงโรมและบริเวณใกล้เคียง ( ค.ศ. ๑๘๕๒) บันทึกการเดินทางในกรุงโรมชื่อ "Wanderungen um Rom" และบันทึกการเดินทางในสเปนชื่อ "Tagebuchblätter aus Spanien" ซึ่งเขาเขียนขึ้นระหว่างพำนักในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากเจ้าชายเฮนรีสิ้นพระชนม์แล้ว ต่อมาได้นำมาตีพิมพ์รวมเข้าด้วยกันในชื่อ Wanderbuch ( ค.ศ. ๑๘๗๙)
     ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ แล้ว มอลท์เคอได้เข้าประจำการในกรมเสนาธิการทหารปรัสเซีย และในระยะนี้เองที่เขาได้เริ่มพัฒนาแนวคิดในเรื่องการแก้ไขปัญหาทางยุทธศาสตร์ของปรัสเซียอย่างจริงจัง อันได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการรวมชาติเยอรมนี ซึ่งปรัสเซียยังคงไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐเยอรมันอื่น ๆ และปัญหาในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของประเทศใหญ่ คือ ฝรั่งเศสและรัสเซียมอลท์เคอเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดในการขจัดปัญหาของปรัสเซียก็คือ การใช้กำลังทหาร ความคิดในเรื่องนี้ปรากฏชัดเจนในจดหมายที่เขาเขียนถึงน้องชายเพื่อเล่าถึงความสำเร็จของการปราบปรามการปฏิวัติของพวกเสรีนิยมในปรัสเซียและในยุโรปอีกหลายประเทศในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ซึ่งจบลงด้วยการกลับคืนสู่อำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยมและสถาบันกษัตริย์มอลท์เคอเขียนย้ำไว้ในจดหมายฉบับนี้ตอนหนึ่งว่า "....ศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของปรัสเซียได้ปิดฉากลงไป แล้ว นั่นก็คือ ประชาธิปไตย..." ในสายตาของมอลท์เคอนั้นเขาเห็นว่ากองทัพคือกุญแจสำคัญในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ปรัสเซียและดินแดนเยอรมันโดยรวม
     ใน ค.ศ. ๑๘๕๑ มอลท์เคอได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นพันเอก และต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๕๕ เขาก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นนายทหารราชองครักษ์ของเจ้าชายเฟรเดอริก วิลเลียม [Frederick William ต่อมาได้ครองราชสมบัติเป็น ไกเซอร์เฟรเดอริกที่ ๓ (Frederick III ค.ศ. ๑๘๘๘)*] ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว มอลท์เคอมีโอกาสเดินทางไปสกอตแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียอย่างไรก็ดี งานในหน้าที่โดยทั่วไปของเขาเป็นงานในลักษณะการรับใช้เจ้านาย มากกว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการรบหรือการทหารโดยตรง แต่กระนั้นเขาก็ได้นำเอาประสบการณ์ในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในรัสเซียมารวบรวมบันทึกไว้ในหนังสือ Briefe aus Russland ( ค.ศ. ๑๘๗๗)
     มอลท์เคอได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๕๘ ขณะมีอายุ ๕๘ ปี การขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุค "แกนนำสามประสานที่ยิ่งใหญ่" (the great triumvirate) ของผู้นำปรัสเซียซึ่งประกอบด้วย ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดี อัลเบรชท์ ฟอน รูน (Albrecht von Roon)* เสนาบดีว่าการกระทรวงสงคราม และมอลท์เคอซึ่งต่างมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปกองทัพปรัสเซียให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพจนสามารถใช้กองทัพเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินนโยบายรวมชาติเยอรมัน รวมทั้งการสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่จักรวรรดิเยอรมันหลังการรวม ชาติจนกลายเป็นมหาอำนาจที่สำคัญของยุโรป
     มอลท์เคอเข้ามาเป็นเสนาธิการทหารในยุคที่การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลกตะวันตกได้เปลี่ยนโฉมหน้าและแนวคิดเกี่ยวกับการทำสงครามแบบสมัยเดิมไปอย่างมากด้วยการนำเอารถไฟโทรเลข และอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่มาใช้ในการทำสงคราม รวมทั้งมีการนำเอาวิธีการจัดระบบการบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมมาใช้ในกองทัพด้วยในด้านการปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น กองทัพ ปรัสเซียได้เริ่มพัฒนาอาวุธสมัยใหม่ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๔๘ เป็นต้นมา โดยเริ่มมีการติดอาวุธให้แก่ทหารราบด้วยปืนชนิดใหม่ที่เรียกว่า "Breech-loading needle gun" แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ มอล์ทเคอจึงดำเนินการต่อมาและได้นำเอากระสุนของปืนชนิดนี้มาใช้กับปืนใหญ่ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือการพัฒนาระบบการขนส่งโดยใช้ รถไฟ มอลท์เคอนั้นถือเป็นนายทหารปรัสเซียคนแรก ๆ ที่ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการใช้ระบบการขนส่งทางรถไฟในการทำสงคราม ซึ่งจะทำให้สามารถ ลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์ไปยังที่หมายได้อย่างรวดเร็วและขนส่งได้คราวละมาก ๆ พร้อมกันได้ในทุกสภาพอากาศ ทั้งยังจะทำให้สามารถขยายแนวรบได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
     นอกจากนี้มอลท์เคอยังได้เสนอแนวคิดทางยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพให้แก่ กองทัพปรัสเซียอันได้แก่การฝึกอบรมนายทหารเสนาธิการโดยใช้เทคนิคใหม่ ๆ และระบบการฝึกฝนที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สามารถรับมือกับยุทธวิธีการทำสงครามแบบใหม่ที่มีเทคนิคและระบบการจัดการกำลังพลที่ซับซ้อนกว่าเดิม มอลท์เคอต้องการให้นายทหารเสนาธิการปรัสเซียมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมากขึ้นกว่าเดิมและสามารถตัดสินใจดำเนินการลำเลียงกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลโดยใช้ระบบการขนส่งทางรถไฟที่มีตารางการเดินรถซับซ้อนได้ อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถจัดสรรกำลังสนับสนุนในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม
     มอลท์เคอยังได้จัดระบบการบัญชาการของนายทหารเสนาธิการขึ้นใหม่ โดยให้ตัวนายทหารเสนาธิการเป็นผู้กำหนดกรอบคำสั่ง (general directives) ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถตัดสินใจในปฏิบัติการได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสนามรบแทนระบบเดิมที่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องรอคอยปฏิบัติตามคำสั่งปฏิบัติการ (operational order) จากเบื้องบนอย่างเคร่งครัด ระบบการสั่งการในกองทัพ อย่างตายตัวที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานนี้ มอลท์เคอเห็นว่าจะกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญและไม่มีประสิทธิภาพในสถานการณ์คับขันที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะ หน้าอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในการประจัญบานระหว่างทหารจำนวนนับล้านคนตามแนวรบที่ยาวเหยียดหลายร้อยกิโลเมตรนั้นจำเป็นต้องอาศัยการสั่งการที่ทันต่อสถานการณ์ในสนามรบเฉพาะจุดจึงจะสามารถเอาชนะข้าศึกได้ การปฏิรูประบบการทำงานของนายทหารเสนาธิการดังกล่าวนี้ ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบให้แก่การจัดกองทัพสมัยใหม่ในประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยถือเป็นศูนย์กลางของการเตรียมตัวทำสงครามและการกำหนดแนวทางของสงครามนั้น ๆ
     การปฏิรูปประการต่อมา คือ การเน้นยุทธวิธีตั้งรับซึ่งอาศัยการโอบล้อมข้าศึกเป็นแนวกว้างมากกว่าจะทุ่มกำลังทั้งหมดเข้าโจมตีแนวรับของฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมากทั้งในด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการจัดทัพจากการรวมกำลังพลอย่างหนาแน่นตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สนามรบตามแบบอย่างการทำสงครามสมัยนโปเลียนให้เปลี่ยนมาเป็นหลักการรวมกำลังพล ระหว่างการรบ คือ "การแยกเดินทัพแต่รบเป็นหนึ่งเดียว" (marching separately, battling as one) หรือการจัดการเดินทัพโดยแยกเป็นหน่วยเล็ก ๆ แต่เข้ามารวมกำลังกันเป็นกองทัพใหญ่ในเวลาประจัญบานกับข้าศึกในสมรภูมิ
     ทฤษฎีและยุทธวิธีทางทหารที่มอลท์เคอพัฒนาขึ้นใหม่เหล่านี้ได้ถูกนำมาทดสอบในทางปฏิบัติเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๘๖๔ ในการทำสงครามเดนมาร์กเพื่อแย่งสิทธิการครอบครองเหนือดินแดนชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Schleswig-Holstein) ในสงครามครั้งนั้นมอลท์เคอบัญชาการรบจากกรุงเบอร์ลินซึ่งทำให้บรรดาแม่ทัพและผู้บัญชาการภาคสนามละเลยไม่ใส่ใจปฏิบัติตามยุทธวิธีของเขาส่งผลให้การรบไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มอลท์เคอจึงต้องย้ายไปประจำการอย่างใกล้ชิดในแนวรบเพื่อทำให้แผนการรบของเขาถูกนำไปปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ จนทำให้กองทัพปรัสเซียได้รับชัยชนะในที่สุด ต่อมา ในสงครามเจ็ดสัปดาห์ระหว่างปรัสเซียกับออสเตรียใน ค.ศ. ๑๘๖๖ มอลท์เคอมีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนการรบและยุทธวิธีอย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้กองทัพปรัสเซียสามารถพิชิตกองทัพออสเตรียได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถผนวกดินแดนที่มีชนเชื้อชาติเยอรมันอาศัยอยู่เข้ากับปรัสเซียได้ตามนโยบายการรวมชาติของบิสมาร์ค ในสงครามเจ็ดสัปดาห์นี้ มอลท์เคอยังนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการรบอย่างเต็มที่โดยให้กองทัพปรัสเซียใช้กำลังพลถึง ๒๕๖,๐๐๐ คน และแบ่งออกเป็น ๓ กองทัพย่อยเพื่อทำการรบตลอดแนวยาวประมาณ ๔๒๐ กิโลเมตร จนมีชัยชนะเหนือกองทัพร่วมของออสเตรียกับรัฐเยอรมันอีกจำนวน หนึ่งที่เมืองเคอนิจแกรทซ์ (Königgrätz) หรือเมืองซาโดวา (Sadowa) ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้รัฐบาลปรัสเซียตอบแทนมอลท์เคอด้วยการมอบเงินรางวัลจำนวนหนึ่งซึ่งเขานำไปซื้อที่ดินผืนใหญ่ที่เมืองไครเซา (Kreisau) ในแคว้นไซลีเซีย (Silesia) [ปัจจุบันคือจังหวัดวรอตสวอฟ (Wroclaw) ในประเทศโปแลนด์] นอกจากนี้ บรรดานายทหารหัวเก่าในกองทัพต่างก็เริ่มยอมรับในประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์แนวใหม่ของมอลท์เคออย่างแท้จริง การรบในสงครามเจ็ดสัปดาห์ยังชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของระบบการทำงานในบางเรื่องของกองทัพปรัสเซียได้เป็นอย่างดี อาทิ การขาดการฝึกอบรมทหารอย่างเพียงพองานด้านข่าวกรองที่ยังไม่เพียงพอและขาดประสิทธิภาพ หลังสงครามเจ็ดสัปดาห์มอลท์เคอจึงได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องต่าง ๆ ในกองทัพอย่างกว้างขวางและจริงจังเพื่อทำให้ปรัสเซียพร้อมสำหรับการทำสงครามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือและการยอมรับจากผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามากขึ้นนอกจากกิจการทางด้านการทหารแล้วมอลท์เคอยังได้เขียน หนังสือว่าด้วยสงครามเจ็ดสัปดาห์ขึ้นเรื่องหนึ่งชื่อ Der Feldzug von 1866 in Deutschland ( ค.ศ. ๑๘๖๗) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนังสือประวัติศาสตร์สงครามเจ็ดสัปดาห์ฉบับทางการของเยอรมนี
     ชัยชนะของปรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ทำให้ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* แห่งฝรั่งเศสไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงมีวิเทโศบายที่จะเสริมสร้างเกียรติภูมิแห่งชาติและความเป็นมหาอำนาจของฝรั่งเศสโดยการฉวยโอกาสเข้าไปแทรกแซงในกิจการของรัฐเยอรมันต่าง ๆ เพื่อให้ฝรั่งเศส ได้ผลประโยชน์ด้วย ดังนั้น นโยบายการสร้างความยิ่งใหญ่ของปรัสเซียจึงขัดต่อนโยบายของพระองค์ และยังเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของฝรั่งเศสในเวลา เดียวกันด้วยในกรณีที่รัฐเยอรมันสามารถรวมชาติได้และมีพรมแดนติดต่อกับฝรั่งเศส ส่วนบิสมาร์คมีความเห็นว่าการทำสงครามกับฝรั่งเศสเป็นความจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของฟอน รูนและมอลท์เคอ แต่ปรัสเซียคงต้องรอเวลาเพื่อปรับปรุงกองทัพให้พร้อมสำหรับการทำสงครามใหญ่ ในปลาย ค.ศ. ๑๘๖๙ มอลท์เคอก็ได้แจ้งให้บิสมาร์คทราบว่ากองทัพปรัสเซียพร้อมที่จะทำสงครามกับฝรั่งเศสแล้ว ฉะนั้นต่อมาบิสมาร์คจึงจงใจสร้างสถานการณ์ยั่วยุจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และปลุกเร้าความเป็นศัตรูระหว่าง ๒ ชาติให้รุนแรงยิ่งขึ้น ในเหตุการณ์ที่ เรียกว่าโทรเลขจากเมืองเอมส์ (Ems Telegram)* จนในที่สุดฝรั่งเศสก็ประกาศสงครามต่อปรัสเซีย สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียจึงอุบัติขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๐
     ในสงครามครั้งนี้กองทัพปรัสเซียเตรียมการอย่างพรั่งพร้อมและมีระบบการบัญชาการรบที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการทำสงครามทุกครั้งที่ผ่านมา จึงทำให้กองทัพปรัสเซียมีความเหนือกว่ากองทัพฝรั่งเศสหลายเท่า สำหรับมอลท์เคอนั้น เขาได้เป็นผู้บัญชาการรบของกองทัพปรัสเซียอย่างเต็มที่และเป็นผู้ออกคำสั่งควบคุมการทำสงครามครั้งนี้ทั้งหมด แม้ว่าตามระเบียบของทางราชการแล้วผู้บัญชาการสงครามคือพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ก็ตาม กองทัพปรัสเซียได้พิสูจน์ความสามารถในการรบโดยได้ชัยชนะในที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และมีชัยชนะครั้งใหญ่ในที่สมรภูมิที่เมืองเซดอง (Battle of Sédan) เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๘๗๐ โดยที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงถูกจับเป็นเชลย ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของฝรั่งเศสจนมีการจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ ขึ้นมาแทนที่ภายในปีนั้นเอง แม้ว่าในสมรภูมิกองทัพฝรั่งเศสจะพยายามยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพปรัสเซียต่อไป แต่เนื่องจากความ อ่อนแอของกองทัพ ทหารฝรั่งเศสจึงไม่สามารถต้านทานกองทัพปรัสเซียได้และประสบกับความพ่ายแพ้มาโดยตลอด จนในที่สุด กองทัพปรัสเซียก็สามารถยกเข้ามาประชิดกรุงปารีสได้ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ รัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสจึงเจรจาขอยุติสงครามกับปรัสเซียอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิง โดยปรัสเซียได้ชัยชนะเหนือฝรั่งเศสอย่างเด็ดขาด ในวันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ ปรัสเซียก็ได้รีบฉวยโอกาสประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน ขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ในประเทศฝรั่งเศสพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงได้รับสถาปนาเป็นไกเซอร์ วิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๘๘)* ด้วยการรวมชาติเยอรมนีจึงบรรลุเป้าหมายโดยสมบูรณ์
     ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้มอลท์เคอได้รับการยกย่องและชื่นชมเป็นอันมากทั้งจากไกเซอร์และประชาชนทั่วไปสำหรับไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ นั้นในทันทีที่ทรงทราบข่าวชัยชนะของกองทัพปรัสเซียที่เมืองเมตซ์ (Metz) ของฝรั่งเศสพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งให้มอลท์เคอมีฐานันดรศักดิ์เป็นกราฟหรือเคานต์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ และเมื่อปรัสเซียกับฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกันแล้ว เขาก็ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิเยอรมันใน ค.ศ. ๑๘๗๑ ในปีต่อมาเขาก็ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาไรค์ชตาก (Reichstag) นอกเหนือจากการที่มอลท์เคอได้รับการยกย่องอย่างสูงในเยอรมนีแล้ว กองทัพเองก็มีสถานภาพในสังคมและการเมืองของเยอรมนีสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างเด่นชัด อาจกล่าวได้ว่าหลังสงครามครั้งนี้แล้วคณะ เสนาธิการทหารดูจะมีสถานะและอำนาจเหนือกว่ากระทรวงสงคราม และเกือบจะมีสถานะสูงกว่าฝ่ายการเมืองด้วย หากบิสมาร์คไม่ยืนกรานที่จะให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบายของชาติเหนือกองทัพ มอลท์เคอเองก็ยอมรับในจุดยืนดังกล่าว โดยยอมปฏิบัติตามการตัดสินใจของบิสมาร์คในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการทำสงครามเช่นยินยอมไม่ก่อสงครามกับฝรั่งเศสขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ตามการตัดสินใจของบิสมาร์ค ทั้ง ๆ ที่ตามข้อเท็จจริงนั้นฝรั่งเศสเริ่มฟื้นตัวแล้ว และมีสัญญาณว่าอาจจะเป็นภัยต่อเยอรมนีได้
     ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๑ มอลท์เคอได้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารของกองทัพจักรวรรดิเยอรมันต่อมาอีกเป็นเวลาถึง ๑๗ ปี ในระหว่างนั้นเขาได้ทุ่มเทเวลาส่วน ใหญ่ให้กับการวางแผนทางยุทธศาสตร์ เพื่อให้กองทัพเยอรมนีสามารถรับศึกได้ทั้ง ๒ ด้าน คือ รัสเซียในแนวรบด้านตะวันออก และฝรั่งเศสในแนวรบด้านตะวันตกพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๘ มอลท์เคอซึ่งในขณะนั้นชราภาพมากแล้วได้ตัดสินใจลาออกจากราชการ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่นิยมในไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๑๘)* จักรพรรดิพระองค์ใหม่ ทั้งในด้านบุคลิกภาพและแนวคิดทางการเมือง ในการนี้มอลท์เคอได้เลือกอัลเฟรด ฟอน วาลเดอร์เซ (Alfred von Waldersee) เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเสนาธิการทหารของเยอรมนี
     หลังจากลาออกจากราชการแล้ว จอมพลเฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน มอลท์เคอ กราฟ ฟอน มอลท์เคอก็ได้ไปพำนักอยู่ ณ คฤหาสน์ในชนบทที่แคว้นไซลีเซีย เขาถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๙๑ ในระหว่างการเดินทางไปเยือนกรุงเบอร์ลินขณะมีอายุ ๙๑ ปี.



คำตั้ง
Moltke, Helmuth Karl Bernhard von, Graf von Moltke
คำเทียบ
จอมพล เฮลมุท คาร์ล เเบรนฮาร์ด ฟอน มอลท์เคอ, กราฟ ฟอน มอลท์เคอ
คำสำคัญ
- สภาไรค์ชตาก
- ไครเซา, เมือง
- ซาโดวา, เมือง
- แวร์ซาย, พระราชวัง
- ชเลสวิกฮอลชไตน์, ดินแดน
- เคอนิจแกรทซ์, เมือง
- เฟรเดอริกที่ ๓, ไกเซอร์
- เฟรเดอริก วิลเลียม, เจ้าชาย
- รูน, อัลเบรชท์ ฟอน
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- เบิร์ต, มารี
- เฮนรีแห่งปรัสเซีย, เจ้าชาย
- ซีเรีย, ดินแดน
- โฮลชไตน์, แคว้น
- คอนสแตนติโนเปิล, กรุง
- ลือเบค, นครอิสระ
- เมคเคลนบูร์ก, แคว้น
- มะห์มุดที่ ๒, สุลต่าน
- ฟรังค์ฟูร์ทอันเดอร์โอเดอร์, เมือง
- กิบบอน, เอดเวิร์ด
- พาร์คิม, เมือง
- บาดซัลซ์บรุนน์, เมือง
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามเดนมาร์ก
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- มอลท์เคอ, เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน
- การรวมชาติเยอรมนี
- มอลท์เคอ, กราฟ (เคานต์) ฟอน
- โทรเลขจากเมืองเอมส์
- ไซลีเซีย, แคว้น
- สมรภูมิที่เมืองเซดอง
- นโปเลียนที่ ๓, จักรพรรดิ
- วรอตสวอฟ, จังหวัด
- เมตซ์, เมือง
- วิลเลียมที่ ๑, ไกเซอร์
- วาลเดอร์เซ, อัลเฟรด ฟอน
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๔๓-๒๔๓๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf